ปราสาทสระกำแพงใหญ่ (Prasat Sakampaengyai) ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสระกำแพงใหญ่ หมู่ 1 ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ในตำแหน่งเส้นรุ้ง (Longtitude) ที่ 15 องศา 05 ลิปดา 54 ลิปดาเหนือ เส้นแวง (Latitude) ที่ 104 องศา 07 ลิปดา 50 ฟิลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย 2 กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ 26 กิโลเมตร (ถนนหลวงหมายเลข 226) (ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมเขมรโบราณ “แบบปาปวน”) ปราสาทสระกำแพงใหญ่สร้างบนเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำล้อมรอบ (ปัจจุบันถูกถมและกลบจนเกือบจะหมดสิ้น คงเหลือเฉพาะทางด้านตะวันตกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น) ก่อนที่จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในปี พ.ศ. 2531 ปราสาทสระกำแพงใหญ่ได้พังทลายลงมา มีต้นไม้และวัชพืชขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น จนไม่สามารถมองเห็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมได้ ส่วนที่เป็นองค์ปราสาทและยอดปรางค์นั้นได้พังทลายลงมา คงเหลือแต่เพียงผนังที่เรียกว่า “เรือนธาตุ”เท่านั้น วิหารคดก็เหลือเพียงผนังที่ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนหลังคาที่มุงด้วยแผ่นหินหรืออิฐนั้นได้ยุบพังลงจนหมดสิ้น ทั้งนี้เพราะในระหว่างที่มีการขุดแต่ง ได้มีการพบ “อิฐหน้าวัว”เป็นจำนวนมาก และเมื่อขุดลึกลงไปประมาณ 1 เมตร ได้พบปรางค์ หรือปราสาทจำลอง บราลีและกลีบขนุนปรางค์จำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้พบเครื่องถ้วยชามและไหโบราณอีกหลายรายการ มีทั้งชนิดที่เคลือบผิวและไม่เคลือบผิว ปราสาทสระกำแพงใหญ่มีอาคารและองคืประกอบต่างๆ ดังนี้ 1. ระเบียงคด ก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 54 เมตร ยาว 62 เมตร ภายในระเบียงคดมีช่องทางเดินกว้าง 2 เมตร หน้าต่างและช่องลม เป็นลูกกรงหินกลึง หรือที่เรียกว่า “ลูกมะหวด” ส่วนที่เสากรอบประตูด้านตะวันออกมีอักษรจารีกเป็นภาษาเขมรโบราณ จำนวน 24 บรรทัด 2. ปราสาทเดี่ยวหรือปรางค์เดี่ยว อยู่ทางด้านตะวันตกค่อนไปทางทิศใต้ภายในระเบียงคด ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 4x4 เมตร ย่อมุมสูงจากพื้นถึงผนังเรือนธาตุ สูงประมาณ 5 เมตร มีประตูเข้าได้เฉพาะด้านตะวันออกเท่านั้น ส่วนอีก 3 ด้าน ทำเป็นประตูหลอกไว้ไม่สามารถเปิดได้ 3. ปราสาทคู่ อยู่ห่างจากซุ้มประตูด้านตะวันออก (โคปุระ) เข้าไปประมาณ 6 เมตร มีปราสาทที่ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ผิวขัดเรียบ 2 หลัง แต่ละหลังตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง ขนาด 4x4 เมตร สูงจากพื้นถึงเรือนธาตุ ประมาณ 5 เมตร มีประตูเข้าออกได้เฉพาะด้านตะวันตก ส่วนอีก 3 ด้าน ทำเป็นประตูหลอกไว้ ปราสาท 2 องค์นี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า คงจะใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ ทางศาสนาหรือที่เรียกว่า “บรรณาลัย” 4. กลุ่มปราสาทประธาน อยู่ห่างจากซุ้มประตูด้านตะวันออก (โคปุระ) เข้าไปประมาณ 20 เมตร เป็นกลุ่มปราสาท 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ในแนวแกนเหนือ-ใต้ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังเรือนธาตุก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ย่อมุมเสาและกรอบประตูเป็นหินทราย ปราสาทองค์กลางซึ่งเป็นปราสาทประธาน มีขนาดใหญ่ และสวยงามมากกว่าปราสาทอีกสององค์ ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ 5. บาราย (สระน้ำ) อยู่ห่างจากบริเวณปราสาทประมาณ 300 เมตร (คนละฟากทางรถไฟ) เดิมมีขนาดกว้าง 200 เมตร ยาว400 เมตร ลึก 4 เมตร ผนังกั้นทั้ง 4 ด้าน กรุด้วยศิลาแลงเป็นขั้นๆลงสู่ก้นสระ และมีน้ำขังตลอดปี ปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาคได้ขุดขยายให้กว้างและลึกเพื่อเป็นสถานที่เก็บน้ำดิบไว้ใช้ในการทำน้ำประปา ปราสาทสระกำแพงใหญ่ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบปาปวน ซึ่งรุ่งเรืองในราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (1545-1593) แม้จะมีศิลปะแบบคลังหรือเกรียงแทรกบ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อย เป็นศาสนสถานที่สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “กมรเต็งชคตศรีพฤทเธศวร (ศิวลึงค์)” ตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิ “ไศวนิกาย” เช่นเดียวกับปราสาทเขาพระวิหาร ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐาน “กมรเต็งชคตศรีสิขเรศวร (ศิวลึงค์)” จากที่ได้มีการขุดพบพระพุทธรูปศิลาและแม่แบบพระพิมพ์ดินเผา ในบริเวณปราสาทแห่งนี้ สันนิษฐานว่าคงจะได้มีการดัดแปลงเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาเป็นหินยาน ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน (ข้อมูลจากหนังสือ “รวมศาสนสถานโบราณในจังหวัดศรีสะเกษ” โดยคุณสำลี ศรปัญญา) |