เราๆ ท่านๆ ที่เคยไปเที่ยวชมปราสาทศีขรภูมิ ต่างได้ชื่นชมกับความงดงามของทับหลัง “ศิวนาฏราช” ที่ปราสาทประธานกันมานักต่อนัก
และหากเราๆ ท่านๆ ที่สนใจศึกษาประวัติของประสาทแห่งนี้จะพบว่าบทความที่กล่าวถึงทับหลังของปราสาทศีขรภูมิอีก 2 ชิ้น ที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งชาวจังหวัดสุรินทร์เรียกร้องให้นำมาประกอบเข้ากับปราสาททั้งสององค์ เพื่อให้สถาปัตยกรรมนี้มีความสมบูรณ์
วันนี้ ได้ไปเดินเล่นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ แล้วก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เลยไปพบว่า ทับหลังสองชิ้นดังกล่าวได้นำกลับมาที่สุรินทร์ถิ่นเดิมแล้ว แม้จะไม่ได้นำไปยังที่ที่มันจากไปก็ตาม
จากคำบรรยายที่ติดไว้ ระบุว่า “ทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับคชสีห์ และทับหลักจำหลักภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้างและคชสีห์” ศิลปะลพบุรี หรือศิลปะขอมแบบนครวัด พบบริเวณปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
เมื่อตรวสอบกับภาพถ่ายครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จปราสาทแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2472 แล้วก็พบว่า มีลักษณะแบบเดียวกัน
ดังนั้นแล้วเมื่อทับหลังสองชิ้นกลับมายังถิ่นเดิมของมันก็ดีใจประการหนึ่ง แต่จะดีใจมากกว่านี้ หากทับหลังทั้งสองชิ้นนี้กลับไปยังที่ที่มันจากมา คือ ปราสาทศีขรภูมิ ก็จะดีใจมากไปกว่านี้

ทับหลังสองชิ้นของปราสาทศีขรภูมิ ภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
หมู่บ้านช้าง ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ จ.สุรินทร์

ชาวบ้านตากลาง ดั้งเดิมเป็น ชาวส่วย (กูย) หรือ กวย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านตากลาง ไม่สามารถไปคล้องช้าง เช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้าง และฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปี

ลักษณะการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง เหมือนการเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังจะได้สัมผัสการดำรงชีวิตของ ชาวส่วย พร้อมทั้งจะได้พบปะพูดคุยกับหมอช้าง ที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา รวมทั้งยังสามารถเดินทางชมจุดบริเวณที่แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลไหลมารวมกัน ซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่งดงามน่าพักผ่อนหย่อนใจ และชวนให้ศึกษาในเชิงของธรรมชาติด้วย

ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จ.สุรินทร์ เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมูบ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว ซึ่งจัดให้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของคนกับช้างโดยมีทั้งบ้าน เรือนของชาวบ้านหรือที่เรียกว่าควานช้าง และมีที่อยู่ของช้างอยู่ทั่วบริเวณเป็นวิถีชีวิตที่น่าทึ่งมากๆ ไม่ว่าเราจะเดินไปบริเวณไหนเราก็จะพบเห็นช้างอยู่แทบทุกที่ ซึ่งช้างแต่ละตัวก็เป็นช้างแสนรู้น่ารัก ไม่ดุร้าย และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช้างกับคนอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข

โดย ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

สนามแสดงช้างแสนรู้ จะมีการแสดงความสามารถอันเฉลียวฉลาดและน่ารักของช้างในศูนย์ฯ อาทิ ช้างเต้นรำ ช้างวาดรูป ช้างปาลูกโป่ง ช้างเตะฟุตบอล ฯลฯ โดยจะเปิดการแสดงทุกวัน วันละ ๒ รอบ คือ ๑๐.๓๐ น. และ ๑๔.๓๐ น. ไม่เว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์

อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นสถานที่แสดงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับช้าง อาทิ วิวัฒนาการของช้าง ช้างในยุคต่างๆ โครงกระดูกช้าง โรคที่เกี่ยวข้องกับช้าง เครื่องมือในการคล้องช้าง ภาพวิธีการจับช้างในรูปแบบต่างๆ ลักษณะสำคัญของช้าง อาหารและยาสมุนไพรช้าง วิถีความผูกพันระหว่างคนกับช้าง พิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับช้าง ขั้นตอนวิธีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับช้างที่เสียชีวิต วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวกวยหรือกูย เป็นต้น

ศาลปะกำ ที่เป็นเสมือนเทวาลัยสิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำ ตามความเชื่อของ ชาวกวย หรือ กูย นิยมปลูกสร้างไว้ในชุมชนคุ้มบ้าน นักท่องเที่ยวสามารถไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์จาก ศาลปะกำ กันได้ ซึ่งเชื่อกันว่า ขอสิ่งได้ ได้สมปรารถนาดั่งที่ตั้งใจไว้

วังทะลุ ห่างจากหมู่บ้านช้างเพียง 3 กิโลเมตร ที่นี่เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหล และลำน้ำชี มาบรรจบกัน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่จังหวัดอุบลราชธานี “วังทะลุ” เป็นสายน้ำที่แวดล้อมไปด้วยป่าที่กว้างใหญ่ไพศาล ก่อให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่งดงามซึ่งหาชมได้ยาก ยังมีความอุดมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นที่อาบน้ำของช้างในหมู่บ้านยามเย็น

การแสดงช้างที่ ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง จ.สุรินทร์ มีทุกวัน วันละ 2 รอบ
รอบเช้า เวลา 10.00น.
รอบบ่าย เวลา 14.00น.
ค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ คนละ 50 บาท
เด็กโต คนละ 20 บาท
เด็กเล็ก คนละ 10 บาท
ชาวต่างชาติ คนละ 100 บาท

นอกจากการแสดงของช้างแล้ว ยังมีการแสดงงู ภายในหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง จ.สุรินทร์ ซึ่งการแสดงจะเริ่มหลังจากชมการแสดงของช้างแสนรู้จบลง ซึ่งเสียค่าเข้าชมการแสดงคนละ 20 บาท

การเดินทาง
การเดินทางมายัง ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง จากกรุงเทพใช้เส้นทาง กรุงเทพ- สระบุรี-นครราชสีมา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพแล้วแยกเลี้ยวขวาเข้าทางหมายเลข 206 เส้นทาง ไป อำเภอพิมายแยกซ้ายเข้าทางหมายเลข 2175 ไปชุมพวงผ่านอำเภอแคนดง-สตึก-ชุมพลบุรี
จากชุมพลบุรี ตรงไปยัง อำเภอท่าตูม ทางหมายเลข 2018 ประมาณ 12 กิโลเมตร จะมีทางเลี้ยวขวาลัดไปยังหมู่บ้านช้างบริเวณบ้านกระสัง ไปบ้านยางบภิรมย์ แล้วตรงไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง เส้นทางสะดวกเป็นถนนทางลาดยางตลอดสาย และยังมีป้ายบอกตลอดการเดินทาง
