โอ่ต้าว
เป็นอาหารว่างยามบ่ายหรือยามดึกยอดนิยมอีกอย่างของคนภูเก็ต คล้ายขนมแป้งผัดของสงขลา หรือหอยทอดภาคกลาง แต่ไม่ใส่ถั่วงอกบางคนเรียกว่า “หอยทอดฮกเกี้ยน” ใช้หอยดิบ หรือ หอยนางรมตัวเล็ก และเผือกนึ่งหั่นเป็นชิ้นลูกเต๋า เป็นเครื่องปรุงหลัก ทอดกับแป้ง ไข่ และกุ้งแห้ง โรยหน้าด้วยกากหมูกินกับถั่วงอก กุยช่าย หรือต้นหอม ลักษณะเมื่อทอดเสร็จแล้วเนื้อแป้งจะนุ่ม เหนียวกว่าหอยทอดทางภาคกลางที่แป้งมักจะกรอบ ในอดีตนิยมใช้โอ่ด้าวเลี้ยงแขกในวันเคลื่อนย้ายศพไปฝังหรือเผา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลานและผู้ไปร่วมงาน ปัจจุบันโอ่ด้าวถือเป็นเมนูอร่อยที่นักท่องเที่ยวมักถามหา ซึ่งมีขายอยู่ทั่วไปในเมืองภูเก็ตโดยเฉพาะแถวตลาดเกษตร
โลบะ

จุดมุมถนนตรงสี่แยกถนนเยาวราชตัดถนนตะกั่วป่า จังหวัดภูเก็ต จะมีใครบ้างรู้ว่าภายในบริเวณโรงเรียนหลังคาสังกะสีจะซ่อนของหรอย ๆ ไว้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นหมี่ฮกเกี้ยนหรือหมี่สั่วผัด หมูสะเต๊ะและอาหารตามสั่ง ภายในบริเวณนั้นยังมีของอร่อยที่กำลังจะหาชิมได้ยากอีกหนึ่งรายการ นั่นคือ “โลบะ”
โลบะ แท้จริงแล้วก็คือ เครื่องในและหูหมูพะโล้ที่นำมาทอด วิธีการกินจะนำไปจิ้มกับน้ำจิ้มสูตรพิเศษ ของแต่ละร้าน ส่วนใหญ่น้ำจิ้มจะปรุงรสด้วยน้ำส้มขาม (น้ำมะขามเปียก) เกลือ และน้ำตาล โลบะ และน้ำตาล โลบะ นับวันจะหาชิมยากมีขายอยู่ไม่กี่แห่งนอกจากที่นี่แล้ว ก็ยังพอจะหากินได้แถว ๆ ทางไปสะพานหิน ซึ่งก็มีความอร่อยไม่แพ้กัน สำหรับร้านไหนจะอร่อยกว่ากันก็ต้องฝากให้ไปพิสูจน์กันเอาเอง
ชาวภูเก็ตฝากบอกว่าโลบะ คืออีกหนึ่งของกินที่ผู้มาเยือนไม่ควรพลาด
แป้งแดง

เป็นอาหารพื้นบ้านของคนบ่อยาง (อำเภอเมืองสงขลา) ทำจากการหมักเนื้อปลาหรือเนื้อหมู แต่ส่วนใหญ่ที่นิยมคือ แป้งแดงปลาเมื่อหมักเสร็จแล้วจะมีลักษณะเป็นสีแดงอมชมพู จึงเรียกแป้งแดง การปรุงแป้งแดงปรุงได้หลายวิธี อาทิ เอาไปห่อใบกล้วยหมกไฟทอดกับไข่ก็ได้ นำไปหลนปรุงรสให้หรอย หรือเอาไปนึ่งกับไข่โรยหน้าด้วยหอมแดงซอย ดีปลีสด (พริกสด) กลิ่นจะหอมหวนยวนใจ คลุกข้าวร้อน ๆ มีผักเหนาะ เช่น ลูกแตง (แตงกวา) ลูกตอ (สะตอ) ลูกเขือ ลูกถั่ว (ถั่วฝักยาว)
สาว่า (สงสัย) ข้าวหม้อหนึ่งไม่พอเสียแล้ว
นาซิดาแฆ
ยามเช้าของ 3 จังหวัดชายแดนใต้สุด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สิ่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนไม่ควรพลาดที่จะแสวงหาเอามาชิม คือ “นาซิดาแฆ” สุดยอดอาหารเช้าและอาหารพื้นบ้านของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ที่สามารถเรียกความสนใจจากนักชิมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติศาสนาใด ไทยพุทธ ไทยจีน หรือคนต่างชาติที่มาเยือน
นาซิดาแฆ เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่งของชาวไทยมุสลิม ซึ่งมีลักษณะคล้ายข้าวมันไทย ส่วนประกอบได้แก่ ข้าวเจ้ากับข้าวเหนียวนำมามูลกับกะทิ ใส่เม็ดฮาลือบอ (เครื่องเทศเม็ดเล็ก ๆ สีอ่อน) นำมานึ่ง เมื่อตักใส่จานโรยหน้าด้วยมะพร้าวข้าวเหนียวคั่ว ทำให้รู้สึกเนือย (หิว) ขึ้นมาทันที ยิ่งเมื่อได้เห็นแกงในสำรับที่มีให้เลือกทั้งแกงปลาชิ้นใหญ่ แกงไก่ หรือแกงเนื้อ เพียงเท่านี้ก็ยากที่จะอดใจอยู่แล้ว
การกิน “นาซิดาแฆ” ที่จังหวัดปัตตานีเท่าที่สังเกตจะนิยมกินกับแกงปลาส่วนที่จังหวัดยะลา และนาธิวาส นิยมที่จะกินกับแกงไก่ โดยจะเป็นแกงกะทิที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศกลิ่นหอม ปรุงรสให้ออกเค็มนำหน้า เสิร์ฟพร้อมไข่ต้มผ่าซีกและผักสด เช่น แตงกวา บอกได้เลยว่านี่คือ อีกหนึ่งมื้อที่จะประทับใจไม่รู้ลืม
ก๋วยเตี๋ยวโรงงิ้ว
ณ โรงงิ้วของศาลเจ้าติดถนนนางงาม อำเภอเมืองสงขลาทุกวันตั้งแต่สาย ๆ เป็นต้นไป เราจะเห็นผู้คนทยอยมุดเข้า มุดออกใต้ถุนโรงงิ้ว เข้าเข้าไปทำอะไรกัน หลายคนที่สงสัยก็จะแวะไปก้มดูบางคนหยุดชั่งใจอยู่นิดหนึ่งแล้วก็มุดตามเข้าไป
ใต้ถุนโรงงิ้วแห่งนั้นเราจะเห็นหญิงชรา พร้อมอุปกรณ์และเครื่องก๋วยเตี๋ยวจัดวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ
ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเอ็นหมูคือสินค้าที่หญิงชราเตรียมไว้บริการลูกค้า และหากต้องการแบบพิเศษก็จะมีตีนไก๋ตุ๋นจนเปื่อยเพิ่มให้อีก 2-3 ชิ้น ถ้าถามถึงความเก่าของร้านก๋วยเกี๋ยวแห่งนี้ก็อาจจะเปรียบเทียบดูได้จากสภาพความเก่าแก่ของโรงงิ้ว และริ้วรอยที่ผิวหนังและใบหน้าของคุณยาย ซึ่งก็ขายมาตั้งแต่โรงงิ้วเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ และยังเป็นสาวอยู่
ความอร่อยคงต้องการการันตีกันที่ความเก่าแก่ของร้านกับปริมาณคนที่มุดเข้า มุดออก และอยากจะขอบอกว่า อย่ากินให้อิ่มมากเพราะจะลำบากตอนมุดออก ถ้าไปไม่ถูกและอยากจะแวะไปชิมถามคนที่สงขลาว่าก๋วยเตี๋ยวโรงงิ้วอยู่ที่ไหน ท่านก็จะได้คำตอบทันที
หมูฮ้อง

เป็นเรื่องของหมูล้วน ๆ ใครที่ถูกโรคกับหมู (นิยมชมชอบของหมู ๆ) ไม่สมควรพลาดเมนูนี้โดยเด็ดขาด เพราะเป็นอาหารที่ถูกปากถูกคอคนรักหมูปรุงโดยเอาหมูเนื้อแดง หรือหมูติดมันต้มจนเปื่อยได้ที่ ปรุงรสโดยน้ำผึ้งแว่น น้ำปลา และใส่ซีอิ๊วดำให้มีสีสันดูน่ากินยิ่งขึ้น มีรสชาติหวาน เค็ม และมีกลิ่นหอมของกระเทียม หอมแดงรวมทั้งเครื่องเทศอื่น เช่น โป๊ยกั๊ก กินกับข้าวสวยร้อน ๆ คู่กับอาหารรสจัด เช่น แกงส้ม หรือบูดู แถมด้วยปลาแห้ง พร้อมผักเหนาะส่าว่าหรอยเหลือเหตุ (คาดว่าอร่อยมาก) หมูฮ้องอุ่นไว้กินได้หลายวัน และยิ่งหลายวันยิ่งมีรสชาติดีขึ้น สามารถหากินได้ที่ร้านครัวสะป่าในตัวเมืองภูเก็ต
สำหรับที่จังหวัดสงขลาการปรุงหมูในลักษณะนี้จะเรียกว่า “หมูค่อง” เครื่องปรุงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย จะใช้หัวหอมและกระเทียมตำคลุกกับหมูหมักไว้ ก่อนจะนำไปต้มจนเหลือน้ำขลุกขลิก ส่วนจังหวัดตรังจะแตกต่างกันที่ใส่เผือกลงไปต้มด้วย และเรียกว่า “โกยุบ”
กดถูกใจเพจ facebookเพื่อแนะนำที่เที่ยวสวยๆและร้านอาหารอร่อยเด็ดๆ
เช่ารถบัสนำเที่ยว เช่ารถตู้นำเที่ยว รถรับจ้างย้ายบ้าน รับจัดโต๊ะจีน รับสร้างบ้านสวย